วันที่ 22 ธันวาคม 63 ที่ห้องประชุมใหญ่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบนโยบายและรับรายงานตัว ข้าราชการตำรวจระดับรอง ผบก.-ผกก.วาระประจำปี 2563 ที่ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งใหม่ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 159 นาย โดยมีการวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ ไปยัง 23 หน่วยทั่วประเทศ ทั้งนี้ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติใช้เวลาในการมอบนโยบายนาน 2 ชั่วโมง โดยเน้นย้ำถึงการทำงาน เพื่อดูแลประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ได้พูดคุยกับเพื่อนข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ประจำปีจะเปลี่ยนถ่ายหน้าที่การงาน โอกาสจะพูดคุยคงไม่บ่อยครั้งนัก การแต่งตั้งในระดับรองผบก.-สว. มีผลบังคับในวันนี้ เก้าอี้ที่เราได้มา เก้าอี้ที่เราจากไปไม่เคยเป็นของเรา เรามาแค่รักษาในช่วงระยะเวลาหนึ่งจะเป็นเดือนเป็นปีตอบไม่ได้ ต้องรักษาให้ดีอย่าให้แปดเปื้อน ให้เป็นที่พึ่งของคน รวมถึงผู้ใต้บังคับบัญชา
ในปีหน้าจะทดสอบระบบลงทะเบียนการแจ้งความผ่านเว็บไซต์ โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) อยู่ระหว่างออกแบบระบบการแจ้งความล่วงหน้าทางออนไลน์ ก่อนจะนัดให้ไปพบพนักงานสอบสวนพื้นที่ ซึ่งแจ้งความต่างท้องที่ แต่เป็นคดีเดียวกันก็สามารถดำเนินการทำได้เลยทันที รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวถึงปัญหาความท้าทายการทำหน้าที่เป็นผู้กำกับสถานี ตอนนี้มีปัญหาหลักคือการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 จึงได้มอบหมายให้พล.ต.อ.ดํารงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. รวมถึงผู้บัญชาการแต่ละหน่วย สำรวจความพร้อมอุปกรณ์ อาทิ หน้ากาก เจลล้างมือ เครื่องวัดอุณหภูมิ ชุดPPE ป้องกันโควิด-19 สิ่งของจำเป็นต้องอยู่ในมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของสถานีตำรวจ 10 หากไม่มีให้ทำเรื่องขึ้นมาถึงกองบังคับการ กองบัญชาการ เพื่อเสนอเรื่องมาถึงตร. ให้ดำเนินการจัดส่งให้
ส่วนเรื่องสถานีจุดบริการประชาชนนั้น ต้องมีระบบการป้องกันการแพร่ระบาดด้วย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่มีคนติดต่อขอวีซ่า ฝ่ายสืบสวนในการควบคุมตัวผู้ต้องหา สายตรวจพบปะประชาชน ตำรวจจราจรพบเจอประชาชน ผู้บังคับบัญชาต้องลงไปดูรายละเอียด บริหารจัดการให้ได้ เป็นหน้าที่เร่งด่วนเบื้องต้น ตำรวจต้องดูแลตัวเอง ผู้กำกับการต้องลงไปตรวจสอบที่พักผู้ใต้บังคับบัญชา



นอกจากนี้ ได้สั่งให้ไปศึกษาเพิ่มเติมให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ทำประกันสุขภาพเอาไว้ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดที่ปิดล็อกอย่าง จ.สมุทรสาครประมาณ 1,000 นาย คนละ 800 ใช้เงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนกรณีการอมเบี้ยเลี้ยงโควิดที่ผ่านมาสอบสวนวินัย จะมีสรุปภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งเบี้ยเลี้ยงม็อบ โดยเฉพาะกรณีการดูแลควบคุมโรคโควิด 19 มีความผูกพันไปถึงคนต่างด้าวกับขบวนการผิดกฎหมาย นโยบายรัฐบาลหากพบเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเกี่ยวข้องจะถูกดำเนินคดีเด็ดขาดทุกราย ขณะนี้จัดชุดเฉพาะกิจลงไป 10 จังหวัดตรวจสอบ ในพื้นที่บช.ภ. 5 – 9 อย่าให้มีเรื่องกรณีดังกล่าวโดยเด็ดขาด
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้นโยบายต่อว่า ปัญหาท้าทายของผู้กำกับการสถานีอีกกรณีหนึ่งคือ สังคมออนไลน์ทุกวันนี้เป็นแหล่งรวมการกระทำความผิดจำนวนมาก โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจ จะต้องชี้แจงข้อเท็จจริงโดยเร็ว ถ้าสิ่งที่เขาพูดเป็นเรื่องจริงก็ต้องรีบไปแก้ไข หากไม่จริงก็ต้องแก้ไขเช่นกัน โดยต้องรีบชี้แจงทำความเข้าใจ ก่อนที่ความเข้าใจผิดจะลุกลามไป ส่วนการทำงานควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ทำงานในรูปแบบคณะกรรมการควบคุมโรค มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้า ตำรวจเป็นผู้ทำหน้าที่หลักต้องเสนอแนวทางความคิดกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมโรค สิ่งที่น่าเป็นห่วงสถานการณ์จ.สมุทรสาคร คือสภาพจิตใจคนที่ถูกกักตัว ไม่เข้าใจรัฐบาลไทยกำลังทำอะไร ประชาชนเหล่านั้นต้องการข่าวสาร รายละเอียดการชี้แจงต้องแก้ไข ต้องรีบสื่อสารให้เข้าใจ เบื้องต้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งทีมงานโฆษกตร.ไปสมุทรสาคร เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวถึงในปี 2564 จะมีงานพื้นฐานต้องทำอะไรบ้าง ว่า งานป้องกันปราบปราม พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รองผบ.ตร. พล.ต.ท.รอย อิงคไพโรจน์ ผู้ช่วยผบ.ตร. จัดตำรวจงานป้องกันปราบปรามไปอบรม 4 รุ่น ให้สายตรวจทำการอบรมเรื่องการเผชิญเหตุ โดยนำคลิปวีดิโอเปิดให้ตำรวจดู ถามว่าเกิดเหตุแบบนี้ทำอย่างไร ยกตัวอย่าง เหตุเอามีดไล่แทงที่จ.อุดรธานี ตีกันภายในโรงพยาบาล จะป้องกันเหตุเรื่องนี้อย่างไร ให้มีการสอนเรื่องยุทธวิธีการจัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็น standard operating procedure หรือมาตรฐานการทำงานที่บ่งบอกถึงวิธีการทำงาน คือยุทธวิธีต้องมีกฎหมายรองระบบ ผู้กำกับการต้องเข้าใจ ว่าลูกน้องฝึกอะไร ต้องซื้ออุปกรณ์


